วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ท่องเที่ยวกรุงเทพ


กรุงเทพมหานคร หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทย พื้นที่นี้เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ เป็นเมืองหน้าด่านขนอน คอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก ที่มาของคำว่า "บางกอก" นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก" หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า "บางมะกอก" โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดอรุณ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก
กรุงเทพฯ เริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงครองราชย์ ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ ที่ 6 เมษายน เดือนห้า แรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่า กรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแนวคูเมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้ อาณาเขตของกรุงเทพฯ ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ แนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร
บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐีและชาว จีน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2328 จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน รวมทั้งงานฉลองพระนคร โดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัด ธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515
ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครเมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit  ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลกและได้จดบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊ค (169 ตัวอักษร) แต่คนทั่วไปนิยมทับศัพท์ตามชื่อที่ผู้พูดภาษาอังกฤษเรียกเมืองนี้ว่า Bangkok ซึ่งมาจากชื่อเดิมของกรุงเทพมหานคร คือ บางกอก
กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุน และการปกครองในทุก ๆ ด้านของประเทศ จึงส่งผลให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกอีกด้วย กรุงเทพมหานครได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในโลกประจำปี 2551 ซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสารทราเวลแอนด์เลเชอร์ กรุงเทพมหานครเป็นจุดท่องเที่ยวจุดหนึ่ง โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระที่นั่งอนันตสมาคม นอกจากนี้แหล่งช้อปปิ้งต่าง ๆ ได้แก่ สยามพารากอน ตลาดนัดจตุจักร มาบุญครอง เซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ เยาวราช และแหล่งร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ถนนข้าวสาร พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ นอกจากนี้ในกรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่สีเขียวมากมาย สำหรับพักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งใช้ออกกำลังกายและพบปะสังสรรค์ ซึ่งได้แก่ สวนหลวง ร.9 อุทยานเบญจสิริ สวนลุมพินี สวนจตุจักร เป็นต้น ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บริเวณถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะมีการจัดแต่งประดับไฟเพื่อเฉลิมฉลองอย่างสวยงาม
อาณาเขต
  • ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น